เวรกรรมในบางครั้งก็ไม่ได้อยู่การกระทำของเราเอง แต่อาจหมายถึงผลพวงของการกระทำของผู้อื่น อย่างเช่นคำว่า บุญคุณ เราได้รับผลพวงจากความดีงานของคนอื่นที่ส่งต่อมาสู่เรา เมื่อเรารับดอกาสนั้นจนกลายมาเป็นบุญคุณ หากไม่ทดแทนแล้ว มันก้จะกลายเป้นหนี้บุยคุณ ที่ไม่ต่างจากเวรหรือกรรมที่เราต้องชดใช้ให้หมด
“หนี้บุญคุณ” หมายถึง การที่ใครบางคนช่วยให้ตัวของเราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ หรือนำเราออกมาจากสถานการณ์ลำบาก หรือทำให้คุณสุขกายสบายใจเป็นพิเศษ หรือทำให้พ้นจากความทุกข์. การติดหนี้บุญคุณแตกต่างจากการติดหนี้กรรมแบบธรรมดา เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้มีโอกาสการไม่มีโอกาสชดใช้หนี้ จึงทำให้เราต้องประสบทุกข์ หนี้ประเภทนี้จะให้ผลหนักมาก เมื่อคนๆ นั้นจงใจลืมบุญคุณ หรือกระทั่งทำร้ายผู้มีพระคุณ ผลของการทำร้ายผู้มีพระคุณอาจคูณสิบ คูณร้อย หรือคูณพันของการทำร้ายคนทั่วไป ยิ่งคนผู้นั้นเป็นผู้ที่มีพระคุณสูงมากตัวคูณก็ยิ่งสูงตาม
ใครบ้างที่เราเป็นหนี้บุญคุณอยู่ ?
1. บิดามารดา
เรื่องครอบครัวที่ถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของมนุษย์ เหมือนน้ำทุกหยดต้องมีต้นน้ำ ไม่มีใครสามารถเกิดมาได้จากกระบอกไม้ไผ่ บิดามารดานับเป็นเจ้าหนี้ของเราทุกคนที่ท่านทั้งสองเป็นผู้ให้ชีวิตจิตใจและคอยเลี้ยงดูฟูมฟักมา และให้ความรู้คุณธรรมพื้นฐานจนเราเติบใหญ่ บิดามารดาจึงเป็นทั้งเจ้าหนี้และผู้มีบุญคุณที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต
2. ครูบาอาจารย์
คนเรานั้นไม่มีใครที่จะสามารถเติบโตขึ้นมาและเก่งได้เลยหรือเป็นคนดีมีศีลธรรมได้ ไม่ว่าในสรรพวิทยาใดๆ ก็ตามล้วนแล้วแต่ต้องมีผู้คอยอบรมขัดเกลาสั่งสอนทั้งสิ้นนั่นก็คือ ครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จึงเป็นได้ทั้งครูทั้งทางโลกคือ คนที่คอยสั่งสอนในสรรพวิทยาให้ศิษย์มีความรู้ความสามารถไปหาเลี้ยงตัวเองได้ นอกจากนั้นยังมีครูบาอาจารย์ที่คอยอบรมสั่งสอนในทางธรรมทั้งหลายเพื่อให้เรามีชีวิตมีปริญญาอีกหนึ่งใบที่จะอยู่ร่วมกับคนในโลกนี้ได้อย่างมีความสุข
ครูบาอาจารย์มีอยู่รอบตัวเราทุกรูปแบบ ไม่ว่าท่านเหล่านั้นจะมาในรูปแบบไหน เช่น เป็นเพื่อน เป็นครู เป็นคนรู้จัก เป็นเจ้านายที่ให้โอกาสเราได้สร้างชีวิตและสร้างคุณธรรม
3. บุตรและภรรยา
หลายคนอาจจะงงว่า ภรรยาและบุตรเป็นเจ้าหนี้บุญคุณของเราได้อย่างไร ก็คงจะพอตอบได้ทีละประเด็นว่า คนที่เกิดมาเป็นเนื้อคู่กันเป็นสามีหรือภรรยากัน ย่อมเคยสร้างกรรมใดๆ ร่วมกันมาไม่ว่าดีหรือชั่วจึงต้องมีเหตุให้มาชดใช้กรรมร่วมกัน รวมทั้งกลับมาร่วมสร้างคุณงามความดีต่อกันเรื่อยๆ ไปได้เช่นกัน ดังตัวอย่างที่กล่าวไปแล้วกรณีของ เจ้าชายสิทธัตถะและพระนางพิมพา
ผู้ชายที่จะประสบความสำเร็จย่อมต้องมีเบื้องหลังความสำเร็จที่สมควรเสมอกัน นั่นก็คือภรรยาของเขาเอง เจ้าชายสิทธัตถะประสบความสำเร็จในการบำเพ็ญบารมีได้ก็เพราะมีเบื้องหลังอย่างพระนางยโสธราคอยเป็นกำลังใจ และให้ความเข้าใจสนับสนุนช่วยเหลือกันมาหลายภพชาติ ให้ความรักความเอื้ออาทรต่อกันเสมอมา พระพุทธองค์จึงประสบความสำเร็จได้
ส่วนกรณีของบุตรนั้น คนที่เป็นพ่อแม่ควรรู้ว่าตัวเราเองนั้นเป็น “ลูกหนี้” มีกรรมที่ต้องชดใช้ให้กับลูกซึ่งเป็นเจ้าหนี้มาก่อนด้วย เหตุที่ต้องกล่าวเช่นนี้ ก็เพราะก่อนลูกจะเกิดนั้นเขาเป็นจิตวิญญาณที่เป็น “โอปปาติกะ” ตัวของลูกเองเป็นคนเลือกพ่อแม่ ที่เลือกคนที่สร้างกรรมกับเขามามากที่สุดถือว่าเป็นลูกหนี้รายใหญ่ที่สุด
เขาเลือกมาเกิดในท้องแม่ก็เพื่อให้ทั้งพ่อแม่ได้ชดใช้กรรมให้แก่เขา แต่พอลูกเกิด ลูกก็เปลี่ยนสภาพกลายเป็น “ลูกหนี้”ด้วย เพราะในร่างกายของเขาก็มีส่วนหนึ่งของพ่อแม่อยู่ในนั้น รวมถึงพ่อแม่เป็นผู้เลี้ยงดูอุ้มชูตั้งแต่เกิด
สำหรับบางคนที่เป็นพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง ญาติหรือแม้แต่ไม่ใช่ญาตินั้น ที่ในชาตินี้มีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูเขาก็เช่นกัน ก็เพราะตัวเราเป็นลูกหนี้เขามาก่อน ถ้าไม่เคยมีกรรมร่วมกันมาก็คงไม่ต้องมานั่งเลี้ยงดูเขาได้ แต่ใครจะมีหน้าที่หนักจะเบาแค่ไหนก็แล้วแต่บุญและกรรมที่ทำร่วมกันมา เช่น เราอาจจะเคยเกิดมาชาติหนึ่งชาติใดเป็นพ่อแม่ลูกกันมาก่อน และได้ทิ้งขว้าง ไม่ได้เลี้ยงดูเขาตามที่ควรที่เหมาะสม มาชาตินี้ก็ต้องมาเลี้ยงดูกันให้หมดสิ้นเวรสิ้นกรรมกันไป ให้สังเกตดูง่ายๆ ก็ได้ว่าทำไมบางคนแม้จะไม่ได้เป็นพ่อหรือแม่ผู้ให้กำเนิด แต่ทำไมมีจิตใจผูกพันกัน เป็นทุกข์เป็นร้อนห่วงใยกันมาก
สิ่งนี้เรียกว่า “ไฟมันไม่หมดเชื้อ” คนที่เป็นพ่อแม่จึงไม่ควรไปคิดมากหรือคิดจะหนีกรรมนี้ไป เพราะบางคนที่เคยอธิษฐานไว้ทำนองว่า “จะขอเกิดมาเป็นพ่อแม่ลูกกันทุกชาติ หรืออยู่ร่วมกันทุกชาติ” ก็รับรองได้ว่าต้องร่วมเวรร่วมกรรมกันไปอีกนาน
เมื่อชาตินี้ยังไม่ถึงวาระผูกพันที่มากพอ คนๆนั้นอาจจะเป็นลูกเลี้ยงไปก่อน พออีกชาติหนึ่งก็อาจจะมาเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของตนเองอย่างแท้จริง เป็นการสะสมกรรมร่วมกันการแก้ไขเพื่อให้ครอบครัวมีความสุข ลูกจะได้อยู่โอวาทไม่ทำตัวเหลวไหลไม่ว่าจะเป็นลูกจริงหรือลูกเลี้ยงหรือแม้กระทั่งเอาเขามาเลี้ยงดูก็ตาม
***วิธีใช้หนี้บุญคุณ***
1. ต้องสำนึกบุญคุณ หมายถึงการจดจำบุญคุณของผู้ที่มีพระคุณไว้ไม่ลืม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่แกล้งลืม ว่าใครเคยให้ความช่วยเหลืออะไรตัวของเราไว้บ้าง วิธีที่ดีที่สุดที่จะไม่ลืมบุญคุณคนก็คือหมั่นระลึกถึงเสมอๆ อาจจะด้วยการนำรูปบุคคลที่มีพระคุณสูงสุดมาแขวนไว้ในจุดเห็นง่าย และกราบไหว้อยู่เนืองๆ ได้แก่รูปของพ่อแม่ ครูอาจารย์
การกราบไหว้เปล่าๆ กับการกราบไหว้ด้วยความระลึกถึงบุญคุณนั้นแตกต่างกันมาก ด้วยการระลึกถึงพระคุณท่านอย่างสุดซึ้ง จะทำให้เรารู้สึกถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนรู้สึกได้ถึงความเป็นมงคลอันอบอุ่น อาการทางใจเช่นนี้ จะเป็นการลดทิฐิมานะและความทะนงลงเสียได้
การสำนึกบุญคุณนั้น ไม่ว่าจะด้วยการระลึกขึ้นมาเฉยๆหรือการหมั่นกราบไหว้รูปเคารพ จะทำให้ตัวตนของเรารู้สึกว่าเล็กลง เพราะตระหนักว่าการที่เราเติบโตขึ้นมาได้ หรือดีขึ้นมาได้ ย่อมไม่ใช่จากตัวเองโดดๆ อย่างน้อยต้องมีการให้ความช่วยเหลือค้ำจุนจากผู้อื่นเสมอ คนสำนึกบุญคุณเก่งๆจะไม่ลืมตัวง่ายๆ และนั่นก็หมายความว่าตัวของคนผู้นั้นก็จะตกต่ำลงได้ยากด้วย
ที่สำคัญการระลึกถึงบุญคุณคนทำให้ตัวเราพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้มีพระคุณเต็มกำลัง หรือเท่าที่มีโอกาสเป็นไปได้ จะไม่มีการมานั่งคำนวณว่าใครให้เรามามากน้อยเท่าใด ใช้ไปเท่านั้นหรือยังจะรู้สึกอยากตอบแทนตามโอกาสเท่าที่ผู้มีพระคุณผู้นั้นยังมีชีวิตอยู่
การหมั่นระลึกถึงและตอบแทนบุญคุณจะเป็นภูมิคุ้มกันโรคเนรคุณ ผู้ลืมระลึกถึงบุญคุณคนนั้น ในที่สุดแล้ว จิตของเขาก็จะมักลืมอย่างสนิทว่า ตนเองเคยติดหนี้ใครอยู่บ้าง ซึ่งเป็นธรรมชาติของจิตที่เมื่อไม่เข้าข้างสว่างก็ย่อมยืนอยู่ข้างมืด ความมืดก็คือความหลงที่เข้าครอบงำ เมื่อถูกครอบงำหนักเข้าก็มีสิทธิ์ยกชั้นขึ้นเป็นการเนรคุณ เพียงแค่กรรมที่ลืมบุญคุณคนก็จะทำให้คนผู้นั้นกลายเป็นผู้ไม่ได้รับความเห็นใจช่วยเหลือในยามลำบาก แต่หากถึงขั้นได้สร้างกรรมหนักกลายเป็นเนรคุณได้ ก็จะต้องรับโทษหนัก ทำอะไรต่อให้เจริญแค่ไหนก็จะกลับตกต่ำได้อย่างไม่คาดฝัน
2.หาทางตอบแทนอย่างสมน้ำสมเนื้อ
คำว่าตอบแทนอย่างสมน้ำสมเนื้อนั้น อาจเข้าใจง่ายถ้าเป็นกรณีทั่วไป เช่นเมื่อเราเองเป็นหนี้ใครหนึ่งพันบาท การตอบแทนอย่างสมน้ำสมเนื้อคือให้คืนเขาพันบาท หรือควรติดเศษนิดหน่อยเป็นดอกเบี้ยเพื่อให้เกิดความพอใจ
แต่บุญคุณนั้นวัดกันเป็นตัวเงินไม่ได้ อย่างเช่น พ่อแม่ และครูบาอาจารย์เป็นช่วยให้เราเองสามารถเอาชนะเงื่อนไขข้อจำกัดทางธรรมชาติ ที่มนุษย์จะอุบัติและมีความเต็มรูปด้วยตนเองไม่ได้ ต้องอาศัยท้องคนอื่นเกิด ต้องอาศัยคนอื่นเลี้ยงดูจนเติบโต ต้องอาศัยการดูแลประคบประหงมไม่เช่นนั้นก็ต้องตาย และ เราทุกคนต้องอาศัยคนอื่นส่งเสียให้เล่าเรียน และมีผู้ที่ให้ความรู้ศิลปวิทยาที่จะสั่งสมไปเป็นวิชาชีพและวิชาชีวิต ซึ่งตามเกณฑ์ปกติจะมีใครเต็มใจ ถ้าไม่ใช่พ่อแม่ และครูบาอาจารย์ของเราเอง
กายและใจของมนุษย์นั้น เป็นดั่งอุปกรณ์เล่นเกมราคาแพง เมื่อเราได้รับอุปกรณ์มาจากใคร คนนั้นจึงมีบุญคุณยิ่งนัก ฉะนั้นการตอบแทนอย่างสมน้ำสมเนื้อจึงมิอาจตีค่าด้วยการให้เงินทองเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้ต่อให้เอาสมบัติทั้งหมดที่คุณใช้เลือดเนื้อนี้หามายกให้ พ่อแม่ น้ำหนักก็ยังไม่เรียกว่าใช้หนี้ครบ เพราะเลือดเนื้อทั้งหมดของเราเองยังเป็นหนี้อยู่ทั้งก้อนอยู่ดี
*** วิธีการชดใช้หนี้กับผู้มีพระคุณ จึงสมควรทำให้ครบทุกคนทุกด้าน *** ได้แก่
1.ใช้หนี้บิดามารดา
การใช้หนี้บิดามารดามีสองระดับคือ ระดับพื้นฐาน ได้แก่การทำหน้าที่ของลูกให้ดีที่สุด คือ เมื่อท่านเลี้ยงเรามาแล้วก็ต้องเลี้ยงดูท่านตอบ ช่วยทำการงานของท่าน ดำรงวงศ์สกุล ประพฤติให้อยู่ในศีลธรรมเหมาะสมแก่การสืบทอดในมรดก และเมื่อท่านได้ล่วงลับไปแล้วก็ต้องทำบุญอุทิศบุญให้แก่ท่าน แต่การคิดเลี้ยงดูให้พ่อแม่สุขทั้งกายสบายทั้งใจนับเป็นการใช้หนี้แค่ “ครึ่งเดียว” หากจะตอบแทนอย่างสมน้ำสมเนื้อนั้นในระดับสูงสุดต้องมีโอกาสด้วย โอกาสที่ว่านั้นคือให้โอกาสพ่อและแม่ที่ยังไม่มีที่พึ่งให้ตนเองได้มีที่พึ่งในทางจิตใจ
ที่พึ่งในทางจิตใจได้แก่ความรู้ความศรัทธาในเรื่องกรรมและการให้ผลกรรม หากท่านยังไม่มีความตั้งมั่นในทาน ยังไม่มีความตั้งมั่นในศีล แล้วผู้เป็นลูกสามารถโน้มน้าว ชักชวนให้พวกท่านมาศรัทธากรรมได้ ฝึกให้ทาน จนรู้สึกว่าหากไม่ให้แล้วเหมือนขาดอะไรไปในชีวิต ฝึกถือศีลจนประพฤติผิดแล้วรู้สึกผิดรุนแรง นั่นแหละจึงได้ชื่อว่าเราได้ตอบแทนคุณท่านอย่างสมน้ำสมเนื้อ ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะกรรมดี คือ “ที่พึ่งที่แท้จริง” เมื่อเราสามารถทำให้พ่อแม่ได้ศรัทธากฎแห่งกรรมวิบาก ตั้งมั่นในทาน ตั้งมั่นในศีล ก็เท่ากับเราได้ตอบแทนเลือดเนื้อก้อนนี้เป็นอัตภาพดีๆในการสร้างกรรมครั้งต่อๆไปของพ่อแม่นั่นเอง
ในครั้งพุทธกาล มีพระสาวกรูปหนึ่งที่พระพุทธเจ้ายกย่องว่าเป็นผู้ที่มีความกตัญญูและหาวิธีใช้หนี้บุญคุณบิดามารดาได้ประเสริฐที่สุดนั่นก็คือ พระสารีบุตร ท่านสารีบุตรนั้นเป็นพระอรหันต์ผู้เลิศด้วยปัญญารองจากพระพุทธเจ้า สั่งสอนอบรมให้ผู้คนกลายเป็นพระอรหันต์มาแล้วนับไม่ถ้วน แต่มีอยู่คนๆ หนึ่งที่ท่านยังไม่ได้สอนให้ หากไม่ได้สอนคนๆ นี้ให้เข้าถึงธรรมท่านก็จะยังนิพพานไม่ได้ คนๆ นั้นก็คือ โยมแม่นั่นเอง
วันหนึ่งก่อนที่ท่านจะนิพพานก็ได้กราบทูลลาพระพุทธองค์เพื่อกลับบ้านเกิด เมื่อได้รับพุทธานุญาตแล้วจึงออกเดินทางด้วยร่างกายที่ถูกรุมเร้าด้วยพิษไข้และบากบั่นมาพบหน้ากับโยมแม่ได้ คืนนั้นพระสารีบุตรได้แสดงธรรมสั้นๆ บทหนึ่งให้โยมแม่ได้ฟังจนพระนางได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน เมื่อท่านได้ชำระหนี้อันศักดิ์สิทธิ์นี้แล้ว รุ่งเช้าก็ได้เข้านิพพานอย่างสงบ
ธรรมชาติพิเศษของการใช้หนี้บุญคุณมีอยู่ประการหนึ่ง คือยิ่งหนี้สูงแล้วเราได้ใช้คืนพ่อแม่อย่างสมน้ำสมเนื้อ เราจะได้คะแนนบวกมหาศาล น้ำหนักของกรรมดีที่เราได้ทำกับพ่อแม่จะให้ผลชัดเป็นความไม่ตกต่ำ แม้ชาติปัจจุบันถูกกรรมเก่าร้ายๆ เล่นงานก็จะได้รับความช่วยเหลือ ผ่อนหนักให้เป็นเบาตามสมควร เรื่องน่าเศร้าคือกรรมบางอย่างอาจจะปิดบังไม่ให้เราเองเห็นช่วงเวลาที่แม่ได้รับความลำบากตั้งท้องเรามา ท่านไม่เคยเปิดเผยให้เห็นช่วงนาทีวิกฤตที่ต้องทุกข์สาหัสกับการเบ่งคลอดเราออกมา กับทั้งไม่ให้เราได้รับรู้ว่าพ่อแม่ทำงานหนักเพื่อเลี้ยงเรามาอย่างไร
ด้วยเหตุนี้ จึงมักทำให้ชีวิตของมนุษย์ทุกคนจึงมองเห็นแค่บุญคุณของคนภายนอกก่อน อย่างครูบาอาจารย์ บุญคุณของญาติ บุญคุณของเพื่อน และบุญคุณของใครต่อใครอื่นๆในโลกที่ทุ่มเทเวลาช่วยเหลือเรา และเราก็เผลออาจตัดสินว่าน้ำหนักของบุญคุณคงจะพอๆกันกับที่พ่อแม่ช่วยเหลือเรามา
และที่สำคัญหากเราไม่ได้ตอบแทนพ่อแม่เลย ลูกของเราเองนั้นแลจะเป็นผู้ทำหน้าที่ทวงคืนแทน คือกรรมของเราเองจะไปดึงดูดเอาโอปปาติกะพวกที่จะมาเป็นลูกล้างลูกผลาญ และไม่สำนึกบุญคุณมาเกิดเป็นลูก และหากเรายังไม่มีลูกก็จะต้องทบหนี้ไปถึงชาติถัดไป
ในทางกลับกัน หากเรามีลูกอยู่แล้วไม่รับผิดชอบดูแลลูกเมียให้ดี มันอาจหมายถึงการเลื่อนเวลาชดใช้หนี้เก่าก็ได้ ต้องแยกให้ออกว่าลูกอาจติดหนี้ชีวิตเราก็จริง แต่เราเองก็อาจเคยติดหนี้เขาไว้ก่อนหากเขามาทวงหนี้คืนแล้วไม่ใช้ ชาติต่อไปเราก็มีสิทธิ์สูงที่จะไปเกิดกับพ่อแม่ที่ขาดความรับผิดชอบ เลี้ยงดูแบบทิ้งๆขว้างๆ หรือฝากคนอื่นเลี้ยงจนคุณว้าเหว่และมีปัญหาตั้งแต่เล็ก
2. ใช้หนี้ครูบาอาจารย์
ครูบาอาจารย์เป็นบุคคลที่สั่งสอนประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้การตอบแทนบุญคุณครูบาอาจารย์ที่สมน้ำสมเนื้อที่สุดก็คือ การนำวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาไปใช้ประโยชน์ให้เกิดคุณค่าต่อตนเองและสังคมให้มากที่สุด ถือเป็นการตอบแทนบุญคุณอย่างสูงสุด เพราะเป็นการแผ่ขยายความรู้และบุญคุณความดีของท่านไปด้วย และมีผลานิสงส์มากกว่าการที่เราจะนำดอกไม้ ธูปเทียน ของขวัญ ของกินไปกราบไหว้เคารพท่านเป็นครั้งคราว และที่สำคัญก็คือ ไม่ลืมที่จะประกาศว่า ความรู้และสรรพวิทยาที่ได้ร่ำเรียนมานั้นได้มาเพราะครูบาอาจารย์ดีสั่งสอน หากละอายที่จะประกาศคุณงามความดีของครูบาอาจารย์ ก็จะทำให้จิตตกลงและอาจกระทำการเลวร้ายอื่นๆ ได้จนนำไปสู่การเนรคุณตนเองได้ในที่สุด และเมื่อครูบาอาจารย์ท่านได้ล่วงลับไปแล้วก็ไม่ควรที่จะลืมทำบุญอุทิศส่วนบุญกุศลให้ท่านเหล่านั้นด้วย ครูบาอาจารย์ล้วนมีบุญคุณมากมายไม่ต่างจากพ่อแม่คนที่สองของเราทุกคน
3.ภรรยา/สามี
คู่ครองนับเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่เราร่วมเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้เพราะธรรมชาติของคนสองคนจะมาอยู่ร่วมกันได้ต้องได้ทำกรรมผูกพันกันมา คู่ครองเป็นผู้มอบความรักใคร่ ความปรารถนาดีและเป็นผู้ที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ทั้งสองฝ่ายจึงมีหนี้บุญคุณต่อกันในลักษณะหนึ่งเช่นกัน
การตอบแทนบุญคุณซึ่งกันและกันก็คือ ควรสงเคราะห์ตอบแทนกันให้ครบ 5 สถานภาพก็คือ
1. ให้เกียรติยกย่องภรรยา/สามี ซึ่งกันและกัน คือให้ความเคารพในสิทธิ ความคิดเห็น และมีอัธยาศัยไมตรีในการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่การบังคับกดขี่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดให้ลงอยู่ในความเห็นหรือความปกครองของฝ่ายตนเพียงคนเดียว
2. ไม่ดูหมิ่น คือไม่เห็นสามีหรือภรรยาของตนเองเป็นทาสในเรือนเบี้ย นึกจะจิกหัวใช้เมื่อไหร่ก็ได้ทำให้ขาดความเคารพซึ่งกันและกันและจะกลายเป็นการสร้างความไม่พอใจอาฆาตกันได้ภายหลัง
3. ยกความเป็นใหญ่ในบ้านให้ คือให้สิทธิในการดูแลครอบครัวอย่างเสมอภาคกันต่างคนต่างช่วยเหลือกันโดยไม่ถือว่าต้องเป็นภาระของคนใดคนหนึ่ง
4. ไม่นอกใจซึ่งกันและกัน ข้อนี้เป็นที่ชัดเจนและแน่นอนว่าชีวิตคู่จะราบรื่นได้ต้องไม่มีมือที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องดังที่กล่าวในเรื่องการพ้นกรรมเรื่องความใคร่ไปแล้ว
5. ซื้อหาความสุขความสำราญต่างๆให้กันได้ตามความเหมาะสม อยากไปกินข้าวนอกบ้าน อยากไปดูหนังฟังเพลง อยากซื้อหาเครื่องประดับตกแต่ง หรือการทำกิจกรรมใดๆ ก็ควรสามารถตอบแทนซึ่งกันและกันได้ตามโอกาสและความเหมาะสมแก่ฐานะ
การตอบแทนหรือชดใช้หนี้บุญคุณกับภรรยาหรือสามีที่นับว่ายิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ การให้ธรรมะแก่อีกฝ่ายหนึ่ง ธรรมะจะเป็นเครื่องช่วยเหนี่ยวรั้งจิตใจให้รอดพ้นจากความทุกข์ทั้งมวลได้ทุกประการ ดังที่พระพุทธเจ้าเองก็ทรงประทานโอวาทให้พระนางพิมพา. พระนางพิมพานั้นรู้สึกเสียพระทัยมาโดยตลอดภายหลังที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกบวช ทรงแต่งกายเยี่ยงสามัญชน ไม่ใช้เครื่องหอมใดๆ อยู่อย่างสมถะเช่นเดียวกับพระสวามีแม้จะอยู่ในวังก็ตาม และเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จนิวัติกรุงกบิลพัสดุ์ พระนางพิมพาก็ยังเสียพระทัยไม่ยอมพบหน้าคิดว่าตนเองเป็นหญิงกาลกิณี ไม่สมควรไปพบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงทรงต้องเสด็จไปประทานโอวาทให้ถึงพระตำหนัก
พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมชาดกเรื่อง จันทกินนร เพื่อให้พระนางพิมพาคลายความโศกเศร้า ว่าครั้งหนึ่งอดีตชาติพระองค์เสวยพระชาติเป็นกินนร มีภรรยาชื่อนางจันทากินรี อาศัยอยู่ที่เขาจันทบรรพต ซึ่งในฤดูแล้งสองสามีภรรยาต่างพากันลงมาหากินที่เชิงเขา
ในครั้งนั้นมีพระราชาเสด็จประพาสมาถึงลำน้ำที่กินนรและกินรีลงเล่นน้ำกัน พระราชาจึงได้เอาศรยิงกินนรให้เสียชีวิต แล้วก็พยายามจะแย่งเอานางกินรีมาเป็นภรรยาของตน นางกินรีกล่าวว่า ต่อให้เราจักต้องตายก็จะไม่ยอมเป็นอัครมเหสีของท่านผู้ฆ่าสามีของเราโดยหาโทษผิดมิได้ แล้วอุ้มสามีขึ้นสู่ยอดภูเขา พลางร้องไห้ขอชีวิตสามีคืนต่อเทพเจ้า
พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ได้เห็นเหตุการณ์นี้จึงแปลงร่างเป็นพราหมณ์ถือคนโฑน้ำมาหลั่งรดบนร่างของกินนรทำให้กินนรฟื้นคืนชีวิตขึ้นมา แล้วก็ประทานโอวาทให้กินนรทั้งคู่ว่า ตั้งแต่บัดนี้เธอทั้งสองจงอย่าได้ลงจากบรรพตแห่งนี้ จงอยู่ในที่สมควรแก่เธอเท่านั้น ทั้งสองจึงได้ครองรักกันอย่างมีความสุขและไม่ได้ลงจากภูเขาอีกเลย
พระพุทธองค์ทรงตรัสชาดกเรื่องนี้ให้พระนางฟังอันเป็นการแสดงให้เห็นว่า พระนางพิมพาได้แสดงความจงรักภักดีต่อจันทกินนรสามีมากแค่ไหน พระราชาในครั้งนั้นก็คือ พระเทวทัต พระอินทร์ก็คือพระอนุรุทธะ ส่วนกินนรก็คือพระพุทธองค์เอง
เมื่อพระนางรู้ว่าตนเองเคยสร้างบารมีกับพระพุทธองค์มาตั้งแต่อดีตชาติทำให้พระนางคลายความเศร้าโศกและบรรลุธรรมชั้นโสดาบันได้ในที่สุด ภายหลังการสวรรคตของพระเจ้าสุทโธธนะ พระนางพิมพาจึงไม่รอช้าที่จะออกบวชและได้สำเร็จเป็นภิกษุณีอรหันต์ได้เร็วที่สุดในบรรดาภิกษุณีทั้งหลายอีกด้วย
4. บุตร
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า บุตรนั้นเป็นผู้ที่ทั้งเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ของเรา บุตรนั้นอาจมาจากโอปปาติกะที่เป็นบรรพบุรุษของเราที่มีจิตห่วงหาอาทรต่อเรามาก่อนแล้วได้กลับมาร่วมภพชาติต่อกัน หน้าที่ในการตอบแทนลูกของพ่อแม่ก็คือ
1. กันลูกออกจากความชั่ว คือการให้ศีลแก่เขาเป็นเครื่องป้องกันตัวไม่ให้เขาได้ตกต่ำ เป็นการป้องกันภัยร้ายจากทุกทิศทางที่ไม่ว่าเสื้อผ้าราคาแพง หรือเกราะใดๆ ก็ไม่อาจทาบได้ การที่ลูกมีศีลก็จะทำให้เขามีพลังจิตที่ดีที่จะดำรงชีวิตให้เป็นคนดี
2. ปลูกฝังลูกไว้ในทางที่ดี ก็คือการมอบวิชาธรรมะวิธีการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพและสามารถจะดำรงชีวิตให้มีความสุขในโลกใบนี้ได้
3. ให้ลูกได้รับการศึกษา ตามตัวอักษรก็คือ การส่งเสียให้เขาได้เล่าเรียนสูงๆ แต่โดยความหมายเชิงลึกกว่านั้นก็คือ การสั่งสอนให้ลูกใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหาชีวิตเป็น
4. จัดแจงให้ลูกได้แต่งงานหรือมีคู่ครองกับคนที่ดี เพราะการมีคู่ที่ดีย่อมเป็นกรรมสนับสนุนให้บุคคลคนๆ นั้นได้ประสบความสำเร็จ
5. มอบทรัพย์สมบัติให้เมื่อถึงเวลาอันสมควร คือยกมรดกให้เมื่อเห็นว่าลูกพร้อมที่จะได้รับ เพราะมีความรู้ความสามารถจะดูแลทรัพย์และใช้ทรัพย์ได้อย่างเป็นธรรม คือ ลูกเป็นคนดีพอที่จะรับทรัพย์สินนั้นและรู้จักรักษาทรัพย์นั้นได้อย่างชาญฉลาด ให้เขามีทุนรอนในการดำรงชีวิตต่อไป
การสำนึกใช้หนี้กับใครก็ตามที่มีพระคุณกับเรา โดยเฉพาะในระดับที่เรารู้สึกซาบซึ้งและเป็นหนี้บุญคุณอย่างสูงสุด การใช้หนี้ที่ดีที่สุดคือการให้ความสุขกับเขาทั้งกายและจิต กายก็คือความสะดวกสบายด้วยทรัพย์อาหาร ส่วนจิตก็คือคุณธรรมและความตั้งมั่นในศีล สมาธิ ปัญญา อะไรก็ตามที่ทำแล้วรู้ว่าเขาจะเป็นสุข จงทำให้มาก และทำเท่าที่โอกาสจะอำนวย อย่ากะเกณฑ์ว่าแค่นี้ใช้หนี้ให้แล้ว ถือว่าหายกันแล้ว
โดยทั่วไปถ้าจิตของเราถึงขั้นรู้สึกซาบซึ้งบุญคุณใคร ส่วนใหญ่บุญคุณนั้นจะหนักยิ่ง อย่าประมาณว่าชดใช้แค่นั้นแค่นี้แล้วจะพอ ที่สำคัญต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่าการใช้หนี้บุญคุณควรเป็นไปตามกำลัง และไม่ใช่ต้องทุ่มเงินทองทรัพย์สินเพียงอย่างเดียว ยังมีวิธีในโลกมากมายที่เราสามารถรินความสุขสู่ใจสู่ใครๆได้โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับเงินทอง เช่นความคิดปรารถนาดี ก็เป็นคลื่นความสุขที่ส่งและสื่อจากใจถึงใจได้แล้ว คำพูดและกิริยาอ่อนน้อมให้เกียรติก็นับว่าเป็นการลงมือตอบแทนได้อย่างหนึ่งด้วย
และสุดท้ายควรจะใช้หนี้ทันที “เมื่อสบโอกาส” หรือให้ดีกว่านั้นคือไม่ประมาท คิดว่า “รีบใช้เสียก่อนเจ้าหนี้ตาย” ขอเพียงเริ่มจากความตั้งใจจริง แม้ยังไม่ลงมือก็ถือว่าใช้ไปบางส่วนแล้ว ชีวิตนี้ของเราอาจไม่มีโอกาสใช้หนี้ครบถ้วน แต่ขอเพียงมีใจคิดอยู่บ้าง จิตและร่างกายก็จะรู้สึกเบาตัวลง เหมือนคนสบายใจได้ใช้หนี้หากทำตัวไม่รู้ไม่ชี้ดองหนี้ไว้ ในที่สุดก็จะกลายเป็นคนขาดความรับผิดชอบในตนเองไปในทุกๆ ด้านไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม สุดท้ายย่อมดึงชีวิตให้ตกต่ำได้ในที่สุด
https://www.siamnews.com/view-13974.html